วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2562

แขวงบ้านช่างหล่อ

ประวัติความเป็นมา
           บ้านช่างหล่อ ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานข้ามคลองบ้านขมิ้น-คลองคู เมืองสมัยธนบุรี บนถนนพรานนก   เขตบางกอกน้อย ซอยวัดวิเศษการและซอยพัฒนาช่าง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการเป็นแหล่งรวมช่างฝีมือสำหนับการหล่อประติมากรรม
ความเป็นมาของบ้านช่างหล่อเล่ากันมาว่าบรรพบุรุษเป็นชางกรุงศรีอยุธยา มีอาชีพช่างหล่อมาแต่เดิม เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าจึงได้ย้ายเมืองหลวงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณริมด้านนอกคลองคูเมืองธนบุรีดังกล่าว (เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชให้กับชาวไทยแล้วจึงอพยพผู้คนและช่างฝีมือต่าง ๆ ที่เรียกว่าช่างสิบหมู่ มายังกรุงธนบุรีและตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่แทนกรุงศรีอยุธยาที่ถูกเผาทำลายไม่สามารถบูรณะให้กลับคืนมาอยู่ในสภาพเดิมได้ ) ช่างฝีมือต่าง ๆ เหล่านี้ได้ตั้งบ้านเรือนและประกอบอาชีพของตนตามสถานที่ต่าง ๆ ดังปรากฏชื่อในปัจจุบัน เช่น บ้านบุ บ้านบาตร บ้านช่างเหล็กและบ้านช่างหล่อ เป็นต้น เดิมชุมชนบ้านช่างหล่อเป็นที่ตั้งของโรงหล่อหลายแห่ง โรงหล่อเหล่านี้เป็นเมืองศูนย์กลางของบ้านช่างที่ตั้งอยู่รายรอบเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะการหล่อประติมากรรมต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากช่างจำนวนมาก เช่น ช่างปั้น ช่างเททอง ช่างลงรักปิดทอง เป็นต้น โดยเฉพาะงานประติมากรรมที่สำคัญนั่นคือ การหล่อพระพุทธรูป การหล่อพระพุทธรูปจะแบ่งออกเป็นการหล่อพระใหญ่และพระเล็ก พระใหญ่หมายถึงพระที่มีขนาดหน้าตักกว้างประมาณศอกคืบ ( วัดด้วยมือ ) หรือ 30 นิ้ว ขึ้นไป เล็กจากนี้ลงมาจะเป็นพระเล็ก
งานหล่อพระเป็นอาชีพที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านช่างหล่อ ที่ทำสืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เป็นงานศิลปะที่ละเอียดซับซ้อนและมีเทคนิควิธีการหลายขั้นตอน แรงงานที่ใช้ในการหล่อพระส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัวและคนในชุมชน ในสมัยก่อนจะประกอบอาชีพหล่อพระกับแทบทุกครัวเรือน พระที่หล่อมีหลายขนาดตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็กและมีหลากหลายปาง ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้างต้องการอย่างไร โลหะที่ใช้มีทั้งทองคำและทองเหลือง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น